การรักษารากฟัน คือ กระบวนการกำจัดเนื้อเยื่อในโพรงฟันและคลองรากฟันที่มีการติดเชื้อ และอักเสบ ร่วมกับการล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาในคลองรากฟันเพื่อทำให้ปราศจากเชื้อโรคหรือลดจำนวนเชื้อให้มากที่สุด จากนั้นจึงอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟันเพื่อความแข็งแรงและสวยงามให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ
สาเหตุส่วนใหญ่ของฟันที่ต้องได้รับการรักษารากฟัน เป็นฟันที่ผุลึกมากจนทะลุโพรงประสาทฟัน ฟันที่ร้าว แตกหัก หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน และฟันที่ได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปในโพรงประสาทฟันและทำให้เกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันได้
การรักษารากฟันเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการมาพบทันตแพทย์หลายครั้ง ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลระหว่างการรักษารากฟัน ดังต่อไปนี้
1. หลังรักษารากฟันเสร็จยังไม่ควรรับประทานอาหารทันมี ควรรอให้ยาชาหมดฤทธิ์ก่อน
2. ระหว่างรอนัดการรักษารากฟันครั้งถัดไป ทันตแพทย์จะอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันชั่วคราว ซึ่งสามารถหลุดได้ จึงควรระมัดระวังในการบดเคี้ยวอาหารหรือควรเลือกรับประทานอาหารที่เคี้ยวง่าย แต่หากพบว่ามีวัสดุอุดฟันหลุดออกจากฟันที่ทำการรักษารากฟันอยู่ ให้รีบไปพบทันตแพทย์เพราะเชื้อโรคที่อยู่ในช่องปากจะเข้าสู่คลองรากฟันที่กำลังรักษาอยู่ ส่งผลให้ต้องใช้เวลาในการรักษาเพิ่มขึ้นได้
3. การทำความสะอาดช่องปาก สามารถทำได้ปกติ ซึ่งคนไข้ควรดูแลความสะอาดช่องปากเป็นอย่างดี อยู่เสมอ ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
4. การรักษารากพันมีกระบวนการที่ชับช้อนและต้องรักษาต่อเนื่อง คนไข้หลายรายไม่ยอมมาตามนัดหมาย เพราะคิดว่าหายปวดและได้รับการอุดฟันแล้ว ซึ่งความจริงแล้ว ในคลองรากฟันเป็นแค่ยาฆ่าเชื้อและอาการอักเสบก็ยังไม่หมดไป รวมทั้งการอุดฟันยังเป็นแค่การอุดฟันแบบชั่วคราวเท่านั้น วัสดุอุดฟันจะหลุดเมื่อไรก็ได้ ซึ่งหากไม่ไปทำการรักษาต่อ คนไข้อาจต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไปเลยก็ได้