รากฟันเทียมคืออะไร?
รากเทียม คือ วัสดุที่มีรูปร่างคล้ายกันกับรากฟันทำมาจากไทเทเนียม เป็นวัสดุที่ปลอดภัยต่อร่างกายของเรา โดยจะใช้ฝังเข้าไปในขากรรไกรเพื่อเป็นการทดแทนฟันที่สูญเสียไป หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำการยึดติดครอบฟันเข้ากับรากเทียม
รากฟันเทียมเหมาะกับใคร
การทำรากฟันเทียมนั้นอาจจะไม่เหมาะกับทุกคน ฉะนั้นประการแรกผู้ที่สูญเสียฟันไปจะต้องทำก็คือการไปพบทันตแพทย์ก่อน เพื่อให้ทันตแพทย์ทำการวินิจฉัยว่าจะสามารถทำรากฟันเทียมได้หรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่เหมาะจะทำรากฟันเทียมนั้น ได้แก่
- คนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เนื่องจากว่าถ้าหากอายุต่ำกว่า 18 ปี กระดูกบริเวณขากรรไกรยังไม่เจริญเติบโตได้เต็มที่หนัก
- คนที่ฟันแตกหักเสียหายหรือฟันเกิดบิ่น โดยทางทันตแพทย์จะแนะนำคนไข้ว่าควรจะทำการถอนฟันซี่นั้นออกไปก่อน ก็จะสามารถทำรากฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปได้
- คนที่ไม่ต้องการใส่ฟันปลอมชนิดถอดออกได้
- คนที่ไม่ต้องการที่จะกรอฟันออกเพื่อที่จะทำสะพานฟันให้ติดแน่น
ขั้นตอนการทำรากฟันเทียม
ขั้นตอนที่ 1. ทำการตรวจประเมินของช่องปาก
คนไข้จะต้องมาพบกับทันตแพทย์ เพื่อทำการตรวจประเมินของช่องปากก่อนว่าบริเวณที่ฟันถูกถอนออกไปมีความพร้อมที่จะทำการฝังรากเทียมได้หรือไม่ จะมีการถ่ายภาพรังสี เพื่อดูความกว้างและความสูงของกระดูกตรงบริเวณที่จะฝังรากฟันเทียมว่าเพียงพอหรือไม่ หลังจากนั้นทันตแพทย์จะทำการวิเคราะห์และวางแผนในการรักษาที่เหมาะสมให้กับคนไข้
ขั้นตอนที่ 2. การผ่าตัดเพื่อฝังรากฟันเทียม
หลังจากทันตแพทย์ได้วางแผนทำการรักษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์ก็จะทำการผ่าตัดเพื่อฝังรากฟันเทียมเข้าไปในกระดูกตรงบริเวณขากรรไกร โดยจะใช้ยาชาฉีดเข้าไปก่อนเพื่อที่จะทำการผ่าตัด ต่อจากนั้นทันตแพทย์ก็จะนัดให้คนไข้กลับมาตัดไหมและดูแผล 7-14 วันหลังจากการผ่าตัด
ขั้นตอนที่ 3. พักฟื้น และรอกระดูกสมานเข้ากับรากฟันเทียม
ขั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกายของแต่ละบุคคล เมื่อรากฟันเทียมถูกฝังลงไปที่บริเวณกระดูก ขากรรไกร กระดูกก็จะเริ่มมีกระบวนการสมานตัว ยึดติดรากฟันเทียมเข้ากับกระดูกเพื่อเป็นการสร้างรากฐานที่ใกล้เคียงกันกับรากฟันจริง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนไข้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 3 เดือน และในระหว่างนี้คนไข้อาจจะต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อติดตามดูอาการ
ขั้นตอนที่ 4. ใส่เดือย และพิมพ์ปากเพื่อครอบฟัน
เมื่อรากฟันเทียมที่ฝังไว้เข้าที่เข้าทางจนสามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการใส่เดือยเพื่อเป็นการรองรับการครอบฟัน ใส่อุปกรณ์ช่วยสร้างร่องเหงือก หลังจากใส่เดือยเสร็จทันตแพทย์ก็จะทำการพิมพ์ปากส่งแลปเพื่อทำตัวครอบฟัน ใช้เวลา 5 – 7 วัน
ข้อดีของการทำรากฟันเทียม
- เป็นการใส่ฟันติดแน่นถาวร และช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไป
- ทำให้มีฟันช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร และทำให้การย่อยอาหารได้ดีขึ้น
- ทำให้สะดวกสบายเพราะรากฟันเทียมเป็นฟันยึดติดแน่นถาวร จะไม่ทำให้รู้สึกรำคาญ หรือทำให้กดเจ็บจากฟันปลอมถอดได้
- เป็นการช่วยทำให้บุคลิกภาพที่ดีและเกิดความมั่นใจในรอยยิ้ม เพราะรากฟันเทียมจะดูคล้ายกับฟันธรรมชาติ
- เป็นการช่วยทดแทนการทำสะพานฟัน โดยปกติแล้วการทำสะพานฟันจะต้องมีการกรอเพื่อแต่งฟันธรรมชาติที่อยู่ด้านหน้า และด้านหลังของช่องว่างฟัน แต่ว่าการทำรากฟันเทียม ไม่ต้องกรอฟันธรรมชาติโดยที่ไม่มีความจำเป็น
ข้อแนะนำข้อห้ามการทำรากฟันเทียม
- การทำรากฟันเทียมนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากว่าสภาพเหงือกและกระดูกขากรรไกรยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
- ข้อจำกัดในคนที่มีโรคประจำตัวบางชนิดที่ควบคุมให้อยู่ในภาวะปกติไม่ได้ ทำรากฟันเทียม อย่างเช่น โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ เพราะจะมีความเสี่ยงต่อการทำรากฟันเทียมแล้วล้มเหลว แต่ถ้าหากเป็นเบาหวานและทานยาเป็นประจำ สามารถที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติได้ ก็สามารถทำรากฟันเทียมได้ และคนที่ทานยาบางชนิด อย่างเช่น ยาละลายลิ่มเลือดบางกลุ่ม ก็สามารถทำรากฟันเทียมได้ แต่จะต้องแจ้งทันตแพทย์ ก่อนทำการรักษาทุกครั้ง เพื่อปรับปริมาณยาให้เหมาะสมก่อนจะทำการผ่าตัด
- ปริมาณกระดูกในตรงบริเวณที่สูญเสียฟัน คนไข้บางคนอาจจะมีสภาวะการละลายของกระดูกเนื่องจากถอนฟันมาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่สามารถที่จะฝังรากฟันเทียมได้ เพราะว่าปริมาณของกระดูกมีความหนาแน่นไม่พอ จึงจำเป็นจะต้องทำการปลูกกระดูกเสียก่อน
- คนที่กินยารักษาโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกบาง คนไข้ที่มีโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกบาง จะมีโอกาสเสี่ยงในการทำรากฟันเทียมแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากยาที่ทานเพื่อรักษาโรคกระดูกพรุนที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ จะทำให้การผ่าตัดมีโอกาสทำให้เกิดแผลในช่องปากและไม่หาย
รากฟันเทียม สะพานฟัน และฟันปลอมถอดได้ แตกต่างกันอย่างไร?
รากฟันเทียม หรือที่เรียกว่าฟันปลอมชนิดรากเทียม เป็นฟันปลอมชนิดติดยึดแน่นถาวร โดยการจำลองรากฟันยึดติดกับขากรรไกรเติมเต็มฟันธรรมชาติที่เสียไป
การทำสะพานฟัน เป็นฟันปลอมที่ติดแน่นถาวร ไม่สามารถถอดได้ ฟันปลอมชนิดนี้จะใช้วิธียึดติดกับฟันธรรมชาติโดยการกรอฟันธรรมชาติด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้มีขนาดเล็กลงเพื่อทำเป็นตัวยึดและทำการครอบสะพานฟันลงไปแทน
ฟันปลอมชนิดถอดได้ ฟันปลอมเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่เสียไป มีทั้งแบบทำด้วยพลาสติกสำหรับใส่เป็นการชั่วคราว และแบบทำด้วยโลหะสำหรับใส่แบบถาวร