ฟันปลอมแบบถอดได้ เป็นวัสดุทางทันตกรรมโดยใช้ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป ใช้กับคนไข้ที่ยังมีฟันเหลืออยู่บางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งนอกจากฟันปลอมชนิดนี้จะใส่เพื่อเติมเต็มช่องว่างฟันที่หายไป สามารถถอดออกมาทำความสะอาดภายนอกช่องปากได้ แต่ประสิทธิภาพการใช้งานแตกต่างจากฟันธรรมชาติพอสมควร ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำฐานฟันปลอมชนิดนี้มี 3 แบบ
- ฐานพลาสติก มีลักษณะคล้ายพลาสติกสีชมพูชนิดแข็ง ปิดคลุมเหงือกหรือเพดานปาก มีโอกาสแตกหักได้ง่ายกว่าชนิดอื่นและมีข้อเสียจากรูพรุนของอะคริลิกที่ทำให้เกิดกลิ่นหรือคราบฝังลึกลงในผิวได้
- ฐานโลหะ เป็นฐานฟันปลอมที่มีความแข็งแรง ส่วนฐานที่ปิดทับเนื้อเยื่อเหงือกหรือเพดานปากมีความบางกว่าแบบพลาสติก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการออกเสียงพูดไม่ชัดหรือการปิดพื้นที่สัมผัสอาหารในขณะรับประทาน แต่พื้นผิวบางส่วนที่รองรับฟันปลอมก็จำเป็นต้องใช้วัสดุชนิดอะคริลิกร่วมด้วย
- ฐานพลาสติกยืดหยุ่น (Valplast) เป็นฐานฟันปลอมที่มีความยืดหยุ่น บิดงอได้ มีน้ำหนักเบาไม่แตกหักได้ง่ายเหมือนชนิดอื่นๆ แต่มีข้อเสียจากความพรุนของวัสดุเช่นกัน
วิธีดูแลช่องปากอย่างไรเมื่อใส่ฟันปลอมแบบถอดได้
- ควรแปรงฟันและแปรงฟันปลอมทุกครั้งหลังการรับประทานอาหาร เพื่อขจัดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟันหรือซอกฟันปลอม ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคฟันผุและทำให้มีกลิ่นปากได้
- ไม่ควรใส่ฟันปลอมนอน เพื่อให้เหงือกได้พักผ่อนจากการกดทับจากฐานฟันปลอมและหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเหงือกอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่แข็งและเหนียวจนเกินไป
- หลังจากทำความสะอาดแล้ว ควรใส่ไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับแช่ฟันปลอม โดยจะใส่น้ำให้ท่วมฟันปลอม เพราะการแช่ฟันปลอมในน้ำนั้นจะป้องกันไม่ให้ฟันปลอมแห้งและเสียรูปไป
- เมื่อใส่ฟันปลอมไปแล้ว และรู้สึกเจ็บ หรือมีปัญหาอย่างอื่น เช่น รู้สึกเคือง หรือแน่นเกินไป ควรจะรีบกลับไปปรึกษาทันตแพทย์ที่ทำฟันปลอมให้ทันที เพื่อทำการเช็คและแก้ไขปัญหาให้
- หมั่นพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อเช็คสุขภาพช่องปาก และฟันปลอมของคุณ