การอุดฟัน
การอุดฟันเป็นอีกส่วนหนึ่งของทันตกรรมทั่วไปเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นการรักษาฟันที่ถูกทำลายจากการผุโดยไม่สามารถใช้งานได้ และไม่สามารถกลับมาเป็นรูปทรงเดิมได้อีก ทันตแพทย์จะทำการกรอฟันที่ผุออกไปจนหมดและทำความสะอาด หลังจากนั้นจึงจะเติมวัสดุอุดฟันลงไป หรือ ในกรณีที่มีฟันผุขนาดใหญ่มาก ๆ อาจจำเป็นจะต้องทำการอุดฟันด้วย Inlays & Onlays ซึ่งจะทำภายในห้องแลปทันตกรรม แล้วจึงจะนำมาเชื่อมต่อกับฟัน ซึ่งการอุดฟันโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 แบบตามชนิดของวัสดุที่ใช้ดังต่อไปนี้
อุดฟันด้วยอมัลกัม (สีโลหะ)
การอุดฟันด้วย อมัลกัม คือ วัสดุอุดฟันที่มีสีโลหะ ซึ่งสมัยก่อนมักจะใช้ในการอุดฟันด้านในสุด อย่างเช่น ฟันกราม และฟันกรามน้อย เพราะว่ามีความแข็งแรง และทนทานต่อแรงบดเคี้ยวได้ดี
อุดฟันด้วยวัสดุเรซินคอมโพสิต (สีเหมือนฟัน)
การอุดฟันด้วยวัสดุเรซินคอมโพสิต เป็นวัสดุที่มีสีเหมือนสีฟัน และเหมาะกับคนไข้ที่มีฟันพุด้านหน้า แต่ว่าวัสดุชนิดนี้จะไม่คงทนเท่ากันกับวัสดุอุดฟัน อมัลกัม อายุของการใช้งานประมาณ 10 ปี สามารถรับแรงบดเคี้ยวได้น้อยกว่าวัสดุ อมัลกัม และนอกจากนี้ยังทำให้ติดคราบชา กาแฟ หรือบุหรี่ได้ วัสดุที่มีสีคล้ายฟันเป็นวัสดุอุดฟันสังเคราะห์ที่มีสีใกล้เคียงกันกับฟันธรรมชาติ จึงมักจะใช้ตรงบริเวณที่ต้องการความสวยงาม อย่างเช่น ฟันด้านหน้า หรือว่าตรงบริเวณที่ยิ้มแล้วมองเห็นฟันได้
ขั้นตอนของการอุดฟัน
- ในขั้นตอนแรกทันตแพทย์จะทำการตรวจเช็คสุขภาพของฟันก่อนว่ามีปัญหาฟันผุมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถทำการอุดฟันได้หรือไม่
- หลังจากนั้นทันตแพทย์จะฉีดยาชา (ในกรณีที่มีฟันผุลึกใกล้กันกับโพรงประสาท) ต่อจากนั้นทันตแพทย์ก็จะทำการกรอฟัน เพื่อกำจัดฟันผุที่ติดเชื้อออก และเตรียมโพรงฟันให้เหมาะกับการอุดฟัน
- หลังจากที่ทำการกรอฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะใส่ทำการวัสดุอุดฟันที่บริเวณฟันผุซึ่งในขั้นตอนนี้การอุดฟันแบบโลหะ และการอุดฟันที่มีสีเหมือนฟันก็จะมีขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไป โดยการอุดฟันที่สีเหมือนฟันนั้นจำเป็นจะต้องทำการฉายแสงเข้ามาช่วยในการอุดฟัน
- เมื่อทันตแพทย์ได้ใส่วัสดุอุดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะทำการขัดแต่งฟันให้ดูดีสวยงาม และพร้อมที่จะใช้งานได้ แต่ถ้าหากต้องการใช้งานได้ในทันทีจะต้องใช้วัสดุสีเหมือนฟัน เพราะว่าวัสดุสีโลหะอาจจะต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมงเสียก่อนถึงจะใช้ได้