การถอนฟัน
การถอนฟันจะทำในกรณีที่ฟันซี่นั้นผุ, แตก ไม่สามารถบูรณะกลับมาใช้งานได้อีก หรือไม่มีประโยชน์ต่อการบดเคี้ยวอีกแล้ว และนอกจากนี้การถอนฟันก็อาจจะทำเพื่อเป็นการเปิดช่องว่างสำหรับการจัดฟันให้เรียงตัวกันได้อย่างสวยงามโดยทั่วไปแล้วการถอนฟันจะต้องทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่เท่านั้น เมื่อบริเวณที่ฉีดยาเริ่มชาเต็มที่แล้ว คนไข้จะรู้สึกเหมือนกับมีแรงกดเพียงเล็กน้อย จะไม่เจ็บปวด หลังจากถอนฟันแล้วให้คนไข้กัดผ้าก็อซไว้ให้แน่น ๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง เลือดก็จะหยุดไหล โดยทั่วไปแล้วการถอนฟันธรรมดา จะไม่มีอาการบวม จะหายเจ็บภายใน 1 วัน สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และแผลที่เกิดจากการถอนฟันก็จะหายภายใน 7 วัน แต่ในช่วง 24 ชั่วโมงหลังถอนฟัน ให้งดบ้วนน้ำแรง ๆ เพราะอาจจะทำให้ลิ่มเลือดที่ปิดแผลอยู่หลุดออกจะทำให้เกิดอาการปวดได้
หลังจากการถอนฟันประมาณ 1 เดือน เมื่อแผลหายสนิท และสันเหงือกว่างยุบตัวลงเล็กน้อยจนคงที่แล้ว คนไข้ควรจะใส่ฟันทดแทน ถ้าหากไม่ใส่ฟันทดแทน ฟันบริเวณข้างเคียงก็จะล้มเข้าสู่ช่องว่าง ทำให้ฟันคู่สบยื่นยาวลงมาในช่องว่าง จะทำให้เกิดปัญหาฟันห่าง, ฟันล้มเอียงง่ายต่อการเกิดฟันผุ และทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ หรืออาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดการสบฟันที่ผิดปกติทั้งระบบในระยะยาว และเมื่อฟันล้มเอียงเข้าสู่ช่องว่าง จะทำให้การใส่ฟันทดแทนทำได้ยาก และมีขึ้นตอนวุ่นวายมากขึ้นอีกด้วย
ลักษณะฟันแบบไหนที่ต้องถอน
- ฟันที่เกิดการติดเชื้อหรือการอักเสบของฟันที่เกิดมาจากฟันผุ ถ้าหากว่าคนไข้ฟันผุไม่มากเท่าไหร่ทันตแพทย์จะเลือกรักษารากฟัน หรืออุดฟัน แต่สำหรับคนไข้ที่ฟันมีการเสียหายที่รุนแรงการถอนฟัน จึงถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ
- ฟันซี่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง สำหรับการทานยาประจำตัวบางอาจจะทำให้ฟันเกิดการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลทำให้เชื้อลุกลามได้ง่ายขึ้นทันตแพทย์จึงจำเป็นจะต้องทำการถอนฟันซี่ที่มีโอกาสติดเชื้อออก เพื่อเป็นการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ
- ฟันเกิน หรือที่เรียกว่าฟันคุด เป็นฟันที่ไม่มีประโยชน์
- ฟันซ้อนจะเป็นอุปสรรค์ต่อการจัดฟัน ถือว่าจำเป็นมาก ๆ สำหรับท่านที่ต้องการจะจัดฟัน แต่มีฟันซ้อนเกในบริเวณช่องปากเยอะ ทันตแพทย์จึงจำเป็นจะต้องทำการถอนฟันบางซี่ออก เพื่อให้ฟันสามารถเคลื่อนที่เรียงตัวกันได้อย่างสวยงาม